มทร.ธัญบุรี เครื่องแปลงตัวอักษรเป็นเสียงพูดควบคุม ด้วยระบบไร้สายต้นแบบ

มทร.ธัญบุรี ออกแบบสร้างวงจรไมโครคอนโทรลเลอร์ควบคุมระบบไร้สาย สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับระบบสื่อโฆษณาหรือข้อความเสียงต้อนรับต่าง ๆ ซึ่งระบบไร้สายสะดวกในการติดตั้งใช้งาน

การศึกษา เป็นผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ประกอบด้วย

– นายปริญญา ปุณณะรัตน์

– นายนพคุณ สามเรืองศรี

โดยมี ดร.วิเชียร อูปแก้ว เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ออกแบบและสร้างเครื่องแปลงตัวอักษรเป็นเสียงพูดควบคุมด้วยระบบไร้สายต้นแบบ (TEXT TO SPEECH MACHINE CONTROLLING VIA WIRELESS SYSTEM) ขึ้นมา

การศึกษา มทร.ธัญบุรี

เจ้าของผลงาน เล่าว่า หลักสำคัญของเครื่องแปลงตัวอักษรเป็นเสียงพูดควบคุมด้วยระบบไร้สายต้นแบบ ประกอบด้วยสองส่วน ได้แก่ ส่วนของภาคส่ง-รับข้อมูลอักษรทางแป้นพิมพ์ เพื่อส่งไปยังภาครับผ่านทางโมดูลเชื่อมต่อไร้สาย และส่วนของภาครับ ทำหน้าที่รับข้อมูลจากภาคส่งแล้วแปลงเป็นเสียงออกทางลำโพง ในหลักการออกแบบวงจร แบ่งเป็น 6 ส่วน คือ

1. ส่วนโปรแกรม Arduino

2. ส่วนไมโครคอนโทรลเลอร์ เป็นส่วนที่สำคัญ เพราะเป็นส่วนที่ใช้ติดต่อกับส่วนต่าง ๆ เป็นส่วนที่ควบคุมข้อมูลที่ส่งมาจากคีย์บอร์ด เพื่อนำไปแสดงผลการรับค่าที่ จอ LCD และควบคุมการรับค่าไปจนกว่าจะมีการสั่งให้ส่งข้อมูลออกไปยัง โมดูล WI-FI ให้ส่งต่อไปยังภาครับ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนย่อย คือ

– ส่วนฮาร์ดแวร์ไมโครคอนโทรลเลอร์

– ส่วนซอฟแวร์ไมโครคอนโทรลเลอร์

3. ส่วนแสดงผล

4. ส่วน wireless

5. ส่วนโมดูลแปลอักษรเป็นเสียงพูด เป็นอีกส่วนสำคัญ เพราะเป็นส่วนที่เปลี่ยนข้อมูลที่ได้เป็นเสียงพูด ในการออกแบบเลือกใช้ Emic 2 parallax ที่มีการเชื่อมต่อ 6 พอร์ตใช้งาน

6. ส่วนสุดท้ายคือส่วนภาคขยายสัญญาณ การขยายจากลำโพงภายนอก เนื่องจากบอร์ดมี output เป็นการส่งสัญญาณออก แบบสเตอริโอ 3.5 mm. ที่ใช้ได้กับลำโพงทั่วไปในปัจจุบัน

แนะนำข่าวการศึกษา : เปิดแผน ตั้งคณะแพทย์ ม.เกษตรฯ

เปิดแผน ตั้งคณะแพทย์ ม.เกษตรฯ สร้างโรงพยาบาลเฟสแรก 100 เตียง

เปิดแผนตั้งคณะแพทย์ฯ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน เริ่มจากหลักสูตรวิชาเวชศาสตร์การเกษตรและชีวนวัตกรรม ปีการศึกษา 2567 สร้างโรงพยาบาลเฟสแรก 100 เตียง 

การศุึกษา ตามที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดตัวโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมกับจัดตั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่บางเขน กรุงเทพฯ นั้น

รศ.ดร.สมหวัง

รศ.ดร.สมหวัง ขันตยานุวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาบัณฑิตขั้นสูง ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ และเพื่อการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์​ ได้เปิดเผยผ่านรายการ KU Radio Thailand ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่า ม.เกษตรศาสตร์ ได้วางแผนจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์มาเป็นระยะเวลานาน แต่ที่ผ่านมาไม่มีความพร้อมหลายด้าน จึงทำให้โครงการต้องสะดุด จนเมื่อปี 2563 ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี ได้มีนโยบายว่า มหาวิทยาลัยกำลังจะครบรอบ 80 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 9 จึงได้นำกลับมาสานต่อ

โดยท่านอธิการมีนโยบายว่า ม.เกษตรศาสตร์ มีความโดดเด่นด้านเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม อาหาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับการยอมรับจากทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ท่านอธิการบดีคิดว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หากเราจะขยายการรับใช้สังคมออกไปอีก โดยเฉพาะในเรื่องการผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพราะว่าโดยเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศ มีการวางกรอบไว้ว่าจะต้องมีจำนวนแพทย์ 1 คนต่อประชากร 100 คน

แต่ในความเป็นจริงจากข้อมูลปี 2564 ระบุว่าเรามีสัดส่วนแพทย์โดยรวมอยู่ที่ แพทย์ 1 คนดูแลประชากร 1,680 คน ถือว่ายังห่างไกลจากตัวเลขที่ตั้งไว้อย่างมาก ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อประชากร  2,761 คน ในส่วนของภาคกลางหากไม่นับรวมกรุงเทพมหานคร แพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1,723 คน

หากเจาะลึกในเฉพาะพื้นที่โดยเฉพาะวิทยาเขตที่เราให้บริการ เช่น วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร จะมีสัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อประชากร 3,550 คน ในส่วนของวิทยาเขตสุพรรณบุรี มีสัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อประชากร 2,513 คน ถือว่าในพื้นที่ต่าง ๆ ยังขาดแคลนบุคลากรจำนวนมาก ดังนั้นเราคิดว่าจึงควรมีการส่งบุคลากรทางการแพทย์เข้าไปดูแลประชาชนในพื้นที่เหล่านี้เพิ่ม อีกทั้งยังตอบสนองเป้าหมายของประเทศที่จะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือ Medical Hub ในภูมิภาคนี้ เพราะเรามีความพร้อมหลายด้าน แต่ยังขาดแคลนแค่บุคลากร

รศ.ดร.สมหวังกล่าวต่อว่า การจัดทำหลักสูตรแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์นั้น เราจะใช้ความเชี่ยวชาญเดิมที่มีอยู่คือด้านเกษตร ป่าไม้ อาหาร มาบูรณาการร่วมกับสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยของประชาชน เช่น สัตวแพทยศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่ดำเนินการอยู่แล้วตามนโยบายสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health)

“เพราะประเทศไทยเป็นสังคมการเกษตร เราเลยวางกรอบการผลิตแพทย์ไว้ว่า จะต้องเป็นแพทย์ที่มีองค์ความรู้และเข้าใจในบริบทการเกษตรด้วย เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตนิสิตแพทย์ โดยสาขาแรกที่เปิดจะเป็นสาขาวิชาเวชศาสตร์การเกษตรและชีวนวัตกรรม (Agro-medicine and Bio-innovation) ซึ่งเป็นสาขาทางการแพทย์ที่ไม่เคยมีสถาบันใดดำเนินการมาก่อนในประเทศ และน่าจะเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียเสียด้วยซ้ำ”

“เราวางกรอบระยะเวลาเอาไว้ว่าจะเปิดรับนิสิตรุ่นแรกในปี 2567 เรียน 6 ปี โดยเมื่อเรียนปี 1-3 จะให้เรียนที่วิทยาเขตบางเขน จากนั้นเมื่อขึ้นปี 4 ก็จะส่งไปฝึกวิชาชีพที่โรงพยาบาล 2 แห่งที่เรากำหนดไว้คือในจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดสกลนคร ตามที่เรามีวิทยาเขตตั้งอยู่ และจะมีการทยอยเปิดสาขาอื่น ๆ ให้ครอบคลุมความต้องการบุคลากรของประเทศในลำดับต่อ ๆ ไป”

รศ.ดร.สมหวังเผยอีกว่า ตอนนี้เรามีองค์ความรู้เชิงวิชาการจากบุคลากรในมหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์สาธารสุขร่วมกันร่างหลักสูตรส่งไปให้แพทยสภาแล้ว แต่สิ่งที่ยังขาดคือห้องปฏิบัติการสำหรับผ่าตัด จึงต้องส่งนิสิตไปฝึกวิชาชีพตามโรงพยาบาล แต่ในอนาคตเราก็ต้องมีโรงพยาบาลของเราเองที่ใช้เพื่อการเรียนการสอน การวิจัย และบริการประชาชน เราจะดำเนินการก่อสร้างกลุ่มอาคารคณะแพทยศาสตร์ บนพื้นที่ 25 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณหอพักหญิงเดิม ติดถนนวิภาวดีรังสิต เพราะบริเวณนั้นมีรถไฟฟ้าสายสีแดง ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวก

ซึ่งประกอบไปด้วย ส่วนแรกเป็นอาคารเรียนของนิสิต ส่วนที่สองจะเป็นโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยหลังแรก ซึ่งเราวางกรอบการสร้างอาคารหลังแรกรองรับ 100 เตียง ซึ่งจะดำเนินการภายในสิ้นปี 2565 นี้ และภายในปี 2568-2569 จะเพิ่มจำนวนเตียงให้กลายเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ขึ้นรองรับ 300 เตียงขึ้นไป